วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

>>> ประวัติความเป็นมา

ผลิตภัณฑ์

ประวัติความเป็นมา


      

           ผ้าไหมมัดหมี่ เป็นผ้าทอพื้นเมืองสุรินทร์ และเป็นผ้าไหมที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสุรินทร์ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย จากบรรพบุรุษหลายรุ่นต่อหลายรุ่น สืบทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ผ้าไหมมัดหมี่เป็นผ้าที่มีสีสันและลวดลายเด่น ฝีมือการทอประณีต ละเอียด เนื้อแน่น ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและเคมีผสมกันแล้วแต่ความต้องการของผู้ทอ เช่น เส้นไหม ได้จากตัวหนอนไหม สีต่างๆได้จากธรรมชาติ ต้นไม้ ใบไม้ ครั่ง มะเกลือ ประโฮด ครามซึ่งสีนี้จะเอามาย้อมตามขบวนการมัดย้อม เพื่อให้เกิดลวดลายสวยงาม
การทอผ้าไหมลายมัดหมี่ในจังหวัดสุรินทร์ชนิดแรกที่เกิดขึ้นคือผ้าไหมมัดหมี่ลายอัมปรม ผ้าไหมมัดหมี่ในประเทศไทยมี ๘๐๐ กว่าลาย ปรากฏว่ามีอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์มากกว่า ๕๐๐ ลาย โดยเฉพาะตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ หนึ่งในแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ เป็นแหล่งผลิตสินค้าผ้าไหมมัดหมี่ มีวัฒนธรรมและศิลปะวิทยาการมาแต่โบราณ และเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้รับการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา เป็นมรดกอันล้ำค่าในการประกอบอาชีพของสตรียามว่างจากงานหลักและเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
           การรวมกลุ่มทอผ้าไหม ของกลุ่มรวมพลังพัฒนา บ้านตาระวี เป็นกลุ่มที่มีกระบวนการผลิตผ้าไหมตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหม กระบวนการกลางน้ำ ได้แก่การมัดหมี่ การย้อมสีไหมมีกรรมวิธีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ/สีเคมี การทอผ้าไหมด้วยมือ กระบวนการปลายน้ำ ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหม การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ซึ่งผ้าทอของกลุ่มรวมพลัง บ้านตาระวี มีการพัฒนารูปแบบลวดลายใหม่ ๆ แต่คงไว้ด้วยความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่นลายลูกแก้ว ลายมัดหมี่ ลายรูปช้าง ลายดอกมะเขือ และลายต่าง ๆ ที่สื่อแสดงถึงวิถีชีวิตของคนพื้นเมืองแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้างตามความต้องการของตลาด นางระเบียบ ศรีลาไลย์ ประธานกลุ่มรวมพลังพัฒนาสามารถผลิตผ้าไหมจำหน่ายต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี่ ในปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความโดดเด่น งดงาม เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงระดับประเทศ

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์




มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

- H M Queen SiriKit qf Thailand MRS. RABIAAB SRILALAI TQP Award for Tapeshion Design competition 2009 
- ใบรับรองแสดงเครื่องหมายรับรองมาตฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมชนิด Roral Thai Silk จากคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย
- ปี ๒๕๕๕ รางวัลที่ ๒ จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประเภทผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ
- รางวัลที่ ๒ ผ้าไหมมัดหมี่ จากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร
- ประกาศนียบัตร ได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ ๕ ดาว ประจำปี ๒๕๔๗,๒๕๔๙,๒๕๕๒,๒๕๕๓
และ ๒๕๕๖

ความสัมพันธ์กับชุมชน

ฝีมือการทอประณีต ละเอียด และใช้แรงงานในชุมชน เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน เริ่มตั้งแต่การปลูกต้นหม่อน การเลี้ยงไหมจนถึงการทอผ้าไหมล้วนเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพและใช้ฝีมือและแรงงานของคนในชุมชน ในการย้อมแต่ละครั้งถ้ามีคนป่วยหรือคนตายภายในหมู่บ้าน หรือถ้าใครมีเครือญาติต่างหมู่บ้านไม่สบายหรือตาย ก็จะทำการย้อมไม่ได้ จะทำให้ผ้าสีไม่ติดหรือกระด่ำกระด่าง

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

๑. เส้นไหม เส้นไหมที่ใช้ทอนั้นมี 2 ชนิด คือ เส้นยืนและเส้นพุ่ง
๒. สีหลักหรือมัดหมี่ ประกอบด้วย
    ๒.๑. แดง ได้จากการย้อมครั่ง 
    ๒.๒. เหลืองทอง ได้จากการย้อมเขก่อน แล้วย้อมทับด้วยประโฮด 
    ๒.๓. สีฟ้า สีน้ำเงิน ได้จากการย้อมคราม
    ๒.๔. เขียวหัวเป็ด ได้จาก การย้อมให้ได้สีเหลืองทองก่อน แล้วย้อมทับด้วยคราม 
    ๒.๕. สีดำ ได้จากการย้อมมะเกลือ หรือย้อมครั่งก่อน แล้วย้อมทับด้วยคราม 
    ๒.๖. สีขาว ได้จากการนำเส้นไหมไปฟอกสี 
    ๒.๗ สีม่วง ได้จากการย้อมครั่ง แล้วย้อมทับด้วยคราม 
    ๒.๘ สีเขียว ได้จากการย้อมประโฮด แล้วย้อมทับด้วยคราม 
๓. ด่างฟอก ได้จาก ผักขมหนาม, เปลือกนุ่น, เหง้ากล้วยแห้ง นำมาเผารวมกัน
๔. กรด ได้จาก มดแดง, ใบชงโค, ใบมืด, ใบพลวง, ใบชะมวง

ขั้นตอนการผลิต

ภายหลังจากสาวเป็นเส้นไหมแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะต้องพิถีพิถัน ก็คือ 
๑. การตีเกลียว เส้นไหมที่ไม่ได้ตีเกลียวจะใช้ทอไม่ได้
๒. การควบเส้น โดยมากมักจะควบอย่างน้อย ๒ เส้น เพื่อให้ผ้าไหมหนาพอสมควร
๓. การฟอก เพื่อให้เส้นไหมนิ่ม ทำให้ทนทานในการใช้สอย
๔. การย้อมสี ตามความต้องการของผู้ทอว่าจะต้องการพื้นสีอะไร
๕. การมัดหมี่ ตามความต้องการของผู้ทอว่าต้องการลายแบบไหน
๖. การเข้ากี่ และเข้าฟืม โดยส่วนใหญ่ใช้กี่พื้นเมือง และใช้ฟืมขนาด ๖ ตะกอ
การเตรียมเส้นไหมพุ่ง
       - ต้มฟอกเส้นไหม เพื่อให้กาวไหมออกโดยใส่ด่าง ๑ ขีด ต่อไหม ๑ กิโลกรัม ประมาณ ๑ ช.ม. แล้วนำไปล้างกับน้ำเปล่า ๒-๓ ครั้ง
       - นำไหมไปย้อมสีธรรมชาติ โดยย้อมครั่ง และเหลืองเข ใช้เวลา ๓ วัน ส่วนครามแล้วแต่เราชอบสีอ่อนหรือแก่ใช้เวลาประมาณ 3 วัน เหมือนกัน โดยการขยำกลางแดดจัดๆ พอได้สีตามที่เราต้องการแล้วนำไปตาก ๑ วัน แล้วนำไปตัดเชือกที่มัดลายออก แล้วล้างด้วยน้ำมะพร้าวตากให้แห้ง แล้วนำไหมไปใส่ระวิงปั่นเข้าอัก แล้วกรอไหมจากอักเข้าหลอด
การเตรียมเส้นไหมยืน
       - ต้มฟอกเส้นไหมเพื่อให้กาวไหมออกโดยใช้ด่าง ๑ ขีด ต่อไหม ๑ กิโลกรัม ประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วนำไปล้างกับน้ำเปล่า ๒-๓ ครั้ง จนไหมสะอาด
       - นำไหมไปย้อมสี โดยต้มน้ำอุ่นใส่สีลงไปตามปริมาณที่ต้องการ โดยย้อมสีดำ และริมแดง เก็บตะกอตามที่เราต้องการ

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

ผ้าไหมมัดหมี่กับความเชื่อทางไสยศาสตร์ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบันซึ่งบางเรื่องมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเชื่อว่าเป็นจริง แต่บางเรื่องก็ยังไม่มีการพิสูจน์ บางเรื่องเป็นเพียงกุสโลบาย การทอผ้าไหมมัดหมี่ต้องย้อมในที่ที่ห่างจากผู้คน ต้องเป็นที่ที่เงียบๆ ต้องไม่มีคนป่วยหรือคนตายในหมู่บ้านจะทำการย้อมไม่ได้ เพราะจะทำให้ผ้าสีไม่ติดหรือกระด่ำกระด่าง นอกจากนี้ใช้เทคนิคที่หลากหลายผสมผสานเป็นลวดลาย เช่น มัดย้อม ฟอกย้อมสี สไลด์สี ซึ่งมีกรรมวิธีการมัดย้อมด้วยสีธรรมชาติและสีเคมีที่มีคุณภาพ สีไม่ตก มีเทคนิคผสมกันในผ้าผืนหนึ่งใช้หลายเทคนิครวมกัน ผลิตภัณฑ์บางตัวใส่ความเป็นท้องถิ่นเข้าไปด้วย เช่น มัดหมี่ลายศิลปวัฒนธรรม
ตามจิตนาการของผู้ออกแบบ

ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ

กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ

กลุ่มรวมพลังทอผ้าไหม บ้านตาระวี
ที่อยู่ 5 - บ้านตาระวี - ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000

ประธานกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ

กลุ่มรวมพลังทอผ้าไหม บ้านตาระวี
ที่อยู่ 5 - บ้านตาระวี - ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000

แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์

- จำหน่ายในชุมชน/หมู่บ้าน
- ร้านค้าในจังหวัดสุรินทร์
- กรุงเทพมหานคร เมืองทองธานี
- ต่างประเทศ ญี่ปุ่น อิตาลี่





















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น